คุณแม่ให้นมลูก ดื่ม "กาแฟ" ได้ไหม?
ให้นมลูก กินกาแฟได้ไหม?
ในเครื่องดื่ม “กาแฟ” มีสารสำคัญที่รู้จักกันดีคือ "คาเฟอีน" ซึ่ง สามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้
หากคุณแม่ดื่มกาแฟ แม้ว่าคาเฟอีนในน้ำนมไม่ได้ส่งผลเสียร้ายแรงต่อทารก แต่ก็อาจมีผลรบกวนพฤติกรรมบางอย่างของลูกน้อยได้ (โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน) อาทิ มีอาการกระวนกระวาย ร้องไห้หนัก งอแง อยู่ไม่สุข ดูดนมได้ไม่ดี นอนหลับยาก มือเท้าสั่น เป็นต้น
นอกจากนี้คุณแม่ที่ดื่มกาแฟเกินกว่าวันละ 450 มิลลิลิตร (ประมาณ 2 แก้ว) เป็นประจำ อาจทำให้ลูกน้อยมีภาวะซีด เพราะขาดธาตุเหล็กได้
และนอกจากกาแฟแล้ว อาหารชนิดอื่นๆ ก็อาจมีคาเฟอีนเช่นกัน อาทิ ช็อกโกแลต ชา โกโก้ หรือน้ำอัดลม
ปริมาณคาเฟอีนใน "เครื่องดื่ม" มีมากน้อยเพียงใด?
ปริมาณคาเฟอีนในเครื่องดื่มมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของเครื่องดื่ม โดยทั่วไปกาแฟสำเร็จรูป จะมีปริมาณคาเฟอีน 60-200 มิลลิกรัม/1แก้ว (แก้วขนาดปริมาตร 240-250 มิลลิลิตร), ชา 10-50 มิลลิกรัม/1 แก้ว และช็อกโกแลตเข้มข้นหรือดาร์กช็อกโกแลต 24 มิลลิกรัม /1 ออนซ์
ปริมาณคาเฟอีนใน "น้ำนมแม่" มีมากน้อยเพียงใด?
ปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะมากหรือน้อยขึ้นกับปริมาณที่คุณแม่บริโภค คาเฟอีนถูกขับออกทางน้ำนมได้ดีและรวดเร็ว พบระดับคาเฟอีนสูงสุดในน้ำนมที่เวลา 1-2 ชั่วโมงหลังจากแม่ดื่มกาแฟ ปริมาณคาเฟอีนออกมาในน้ำนม 0.06-1.5% ของปริมาณที่แม่ได้รับ หรือประมาณได้ว่าทารกที่ดื่มนมแม่ จะได้รับคาเฟอีนราว 7-10% ของปริมาณที่คุณแม่ดื่ม เมื่อปรับค่าตามน้ำหนักตัว หากคุณแม่ได้รับคาเฟอีนน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม จะมีคาเฟอีนในน้ำนมต่ำมากจนวัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร) คาเฟอีนมีค่าครึ่งชีวิตในน้ำนม 4-6 ชั่วโมง (หมายความว่าทุก ๆ ช่วงเวลาดังกล่าวปริมาณคาเฟอีนในน้ำนมจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง)
** สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก หากงดดื่มกาแฟไม่ได้ ควรจำกัดปริมาณในการดื่มต่อวัน เช่น ดื่มวันละ 1 แก้ว หรือ 1 - 2 แก้ว / วัน และค่อย ๆ ลดปริมาณลง หรือดื่มกาแฟที่สกัดกาเฟอีนออก และทางที่ดีที่สุดคุณแม่ควรงดดื่มกาแฟจะเป็นผลดีมากกว่าค่ะ