เช็คพัฒนาการลูกน้อย Newborn Reflexs
ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กทารก คืออะไร?
ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กแรกเกิด (Newborn Reflexs) เป็นการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติที่ทารกทำเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ดูด กำนิ้ว สะดุ้ง เป็นต้น โดยการตอบสนองเหล่านี้ไม่ได้มาจากการเรียนรู้ แต่มาจากการเชื่อมต่อกับระบบประสาทของเด็ก และมักจะหายไปหรือเกิดน้อยลงเมื่อระบบประสาทของเด็กเติบโตเต็มที่แล้ว
โดยปฏิกิริยาตอบสนองมีหลายแบบที่ต่างกัน เช่น รีเฟล็กซ์ที่ช่วยให้ทารกพร้อมเริ่มหาอาหาร หรือรีเฟล็กซ์ที่ช่วยให้ทารกป้องกันตัวเองจากอันตราย เป็นต้น
ทำไมพ่อแม่ควรรู้เกี่ยวกับ ปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กทารก?
สำหรับคุณพ่อแม่มือใหม่ การรู้จักเกี่ยวกับรีเฟล็กซ์ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะได้สามารถเข้าใจพฤติกรรมต่าง ๆ และดูแลลูกน้อยได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น เข้าใจว่าทำไมลูกถึงหันศีรษะและอ้าปากเมื่อถูกลูบแก้ม แบบนี้ก็จะช่วยให้พ่อแม่จัดท่าทางของลูกน้อยระหว่างให้นมได้ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ยังสามารถเข้าใจปัญหาของพัฒนาการลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น หากเจ้าตัวน้อยไม่แสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางอย่างหรือแสดงการตอบสนองที่มากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้ได้ว่ามีบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกน้อย
เพื่อการรักษาหรือได้รับคำแนะนำจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งวิธีการดูแลลูกน้อยที่ถูกต้องหลังจากนี้นั่นเองค่ะ
Plamer grasp reflex |
ลองวางนิ้วมือบน อุ้งมือของทารก พร้อมออกแรงกดเบาๆ เด็กจะรีเฟล็กซ์กลับมาเป็นการกำนิ้วมือนั้น รีเฟล็กซ์ประเภทนี้มีความสำคัญต่อพัฒนาการของทารก เนื่องจากช่วยให้เรียนรู้วิธีการถือวัตถุต่าง ๆ พ่อและแม่เองก็สามารถช่วยส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวที่ดีให้กับลูกได้ด้วย เช่น หาของเล่นที่ช่วยในการจับให้ลูกน้อย
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 3-4 เดือน
Planter Grasp Reflex |
ใช้นิ้วมือแตะหรือกดเบาๆ บริเวณฝ่าเท้าของทารก เด็กจะรีเฟล็กซ์กลับมาเป็นการงอฝ่าเท้าข้างนั้น
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 6-8 เดือน
Rooting Reflex/ Sucking Reflex |
ใช้นิ้วมือลูบผิวบริเวณมุมปากของทารก รีเฟล็กซ์ที่กลับมาคือ ทารกจะอ้าปากและหันศรีษะไปทางด้านที่ถูกลูบ และเริ่มดูด เมื่อลูกงับหัวนมได้ก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองด้วยการใช้ลิ้นกับเพดานดุนเข้าหากัน จากลานนมไปหาหัวนมทำให้มีน้ำนมไหลออกมา
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 3-4 เดือน
Moro Reflex (startle reflex) |
อุ้มทารกในท่านอนหงาย โดยใช้มือพยุงศีรษะ หลัง และขา แล้วลดระดับร่างกายหรือแขนที่อุ้มทารกอยู่ลงทันที เด็กจะกางแขนออกกว้าง มือเปิด และงอขา และหลังจากนั้นอาจจะร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่สามารถลด Moro reflex ได้ด้วยการทำให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น โดยการใช้ผ้าห่อตัวทารกก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการรบกวนจากสิ่งเร้าให้ลูกน้อยได้ค่ะ
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 4 เดือน
Asymmetric Tonic neck Reflex |
เมื่อทารกนอนหงาย ให้หันศีรษะทารกไปข้างใดข้างหนึ่ง แขน/ขาข้างที่หันศีรษะ จะยืดออก ในขณะที่แขน/ขาฝั่งตรงข้ามจะงอเข้าหาตัว (ทำซ้ำอีกด้านหนึ่ง)
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 2 เดือน
Trunk Incurvation (Galants) Reflex |
พยุงอุ้มทารกนอนคว่ำด้วยมือข้างเดียว และใช้นิ้วลากเป็นเส้นตรง จากไหล่ถึงเหนือก้นประมาณ 1 ซม. กระดูกสันหลังจะโค้งไปทางด้านที่ถูกลูบ
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 2 เดือน
Landau Reflex |
อุ้มทารกนอนคว่ำด้วยมือข้างเดียว ศีรษะของทารกจะยกขึ้นอัตโนมัติและกระดูกสันหลังจะเหยียดตรง
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดถึง 6 เดือน
Parachute Reflex |
อุ้มทารกในลักษณะนอนคว่ำ และค่อยๆ ลดระดับการอุ้มลงสู่พื้น แขนและขาของทารกจะยืดออกในลักษณะป้องกันเพื่อไม่ให้ชนพื้น
เริ่มเมื่ออายุ: 8-9 เดือนขึ้นไป
Positive Support Reflex |
อุ้มทารกรอบลำตัวด้วย 2 มือ ให้อยู่ในลักษณะยืนตั้งตรง จากนั้นค่อยๆ หย่อนตัวทารกลงจนกระทั่งเท้าสัมผัสพื้น สะโพก เข่า และข้อเท้าจะยืดออก ทารกจะอยู่ในลักษณะยืน ขาของทารกจะรับน้ำหนักได้บางส่วน และหย่อนลงในเวลา 20-30 วินาที
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิดหรือช่วง 2 เดือน จนถึง 6 เดือน
Placing and Stepping Reflexs |
อุ้มทารกให้อยู่ในลักษณะยืนตั้งตรง ให้เท้าทารกแตะพื้น สะโพก เข่าและเท้าจะงอ และเท้าอีกข้างจะก้าวไปข้างหน้า และเกิดการก้าวสลับกัน ลักษณะเหมือนการเดิน
เริ่มเมื่ออายุ: แรกเกิด จนถึง 3-4 เดือน และจะหายไป
ที่มา: Stanford Medicine Childrens Health/GrepMed